Last updated: 22 พ.ย. 2566 | 1246 จำนวนผู้เข้าชม |
จักสานบ้านป่าบง ของบ้านแม่เขียว ข้องหลวง ได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในด้านการจักสานของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มจักสานแม่เขียวข้องหลวง เกิดจากคุณยายเขียว แก้วสมุทร์ ได้ดำเนินการเพิ่มขนาดการสานข้องขนาดปกติที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่าและเป็นทั้งที่สังเกต จดจำได้ในทันที ผลงานดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านแห่งนี้เป็นอย่างมาก ที่ได้เปลี่ยนแปลงจากข้องทรงเดิม ๆ ได้กลายเป็นข้องหลวงที่เป็นเอกลักษณ์แบบเฉพาะของตำบลป่าบง จึงเป็นที่มาของชื่อ แม่เขียวข้องหลวง
กลุ่มนี้เกิดขึ้น ราวปี พ.ศ. 2523 ที่มาเกิดขึ้นจากมีชาวญี่ปุ่นมาชมการจักสานของคนในชุมชน จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘แม่เขียวข้องหลวง’ ที่ปัจจุบันได้รับการสานต่อ โดยนอกจากจะมีสินค้าจักสานที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีการต่อยอดโดยนำงานจักสานที่มีอยู่มาประยุกต์ให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น รวมทั้งที่นี่ยังเปิดสอนวิธีการจักสานในรูปแบบต่าง ๆ แก่ผู้สนใจด้วย
ป้าสุข ทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มจักสานบ้านป่าบง
ปัจจุบันป้าสุขและชุมชนได้เริ่มรื้อฟื้นการทำกระบุง และลวดลายแบบโบราณของบ้านป่าบง เพราะลูกค้าชอบรูปแบบนี้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการทำนานกว่าปกติ และขายแพงมากก็เกรงว่าจะไม่มีคนซื้อขั้นตอนการจักสานที่ฟังดูเหมือนง่าย หากแต่ต้องใช้เวลา ความตั้งใจและความอดทน ป้าสุขบอกว่างานบางอย่างต้องใช้คนหนุ่มสาวทำ โดยจะแยกงานกันตามความถนัดของแต่ละคน บางคนถนัดขึ้นรูป บางคนถนัดงานละเอียด อย่าง เช่น พวงมาลัยจากไม้ไผ่ เป็นงานละเอียดมาก ตอนนี้มีคนทำอยู่คนเดียวคือแม่รัตน์ สำหรับคุณยายเขียววัย 90 ปี ยังคงแข็งแรงและทำงานสานข้องใบเล็กกับอยู่กับคุณตาทุกวัน
“เวลาทำกระบุง จะเริ่มจากการจักก่อน คือการผ่าไม้ไผ่ให้แตก แยกออกเป็นเส้น เป็นซี่บางๆ แล้วเหลาเพื่อลดความคมของไม้ เสร็จแล้วก็เอามาสานขึ้นลายตามแม่แบบ วิธีการก็คือเอาเส้นตอกมาสานกัน ‘ยก’ ขึ้นเส้นหนึ่ง แล้ว ‘ข่ม’ ลงเส้นหนึ่ง ขัดกันสลับไปมา เรียกว่า ‘ลายขัด’ พอสานเสร็จแล้ว ก็เอาไปทำสี เคลือบผิวไม้อีกที ป้องกันไม่ให้แมลงมากินไม้ ทำให้ทน ใช้งานได้นานขึ้น”
Cr.https://salahmade.com และ HIP Magazine & Event