อุโมงค์ผันน้ำ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 16 ก.ค. 2565  |  2563 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อุโมงค์ผันน้ำ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่

        เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ ในหลวง รัชกาลที่ 9  ปัจจุบัน เป็นเขื่อนขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของ จ. เชียงใหม่ รองจากเขื่อนแม่งัด เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ. ดอยสะเก็ด สร้างขึ้นเมือปี พ.ศ. 2519 สามารถเก็บกักน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าเฉลี่ยปีละ 186 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนในการอุปโภคบริโภค และส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอ ของ จ. เชียงใหม่ และ 2 อำเภอ ของ จ. ลำพูน
   เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ อุโมงค์ผันน้ำดังกล่าว  จะกลายเป็นอุโมงค์ผันน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เพราะมีความยาวถึง 47 กิโลเมตร ที่สำคัญ อุโมงค์นี้จะสร้างผลประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในหลายด้าน รวมถึงช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน บรรเทาปัญหาอุทกภัยทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน และช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งจากเดิม 17,060 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 76,129 ไร่

         ยิ่งไปกว่านั้น อุโมงค์ผันน้ำนี้จะสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง จำนวน 14,550 ไร่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจำนวนกว่า 175,000 ไร่

         นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยประเด็นสำคัญ คือ ช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็นปีละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร อันจะช่วยรองรับการเจริญเติบโตในด้านต่าง ๆ ของทั้ง 2 จังหวัดได้เป็นอย่างดี
     ในขณะเดียวกัน จะมีการนำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และการเตือนภัยจากน้ำหลากล่วงหน้าได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้อีกด้วย โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ แต่ยังเป็นการเชื่อมเขื่อนทั้งสองแห่ง ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วย ถือเป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่ง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนได้อย่างยั่งยืน

ที่มาบทความและรูปภาพ : สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี , tourismthailand.org
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้