นวัตกรรมถ่านผลไม้ดูดกลิ่น จากเปลือกทุเรียน

Last updated: 23 พ.ค. 2567  |  883 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวัตกรรมถ่านผลไม้ดูดกลิ่น จากเปลือกทุเรียน

          นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผุดไอเดียเปลี่ยนขยะจากตลาดสดสู่ผลิตภัณฑ์ถ่านหอม ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะอินทรีย์ส่งกลิ่นเหม็นแล้วยังเพิ่มรายได้ให้กับขุมชนอีกด้วย

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีแนวคิดในการการประโยชน์จากของเสียภาคเกษตรกรรมให้เกิดมูลค่าสูงสุด เนื่องจากเปลือกผลไม้นับเป็นขยะที่เหลือทิ้งจากตลาดมากที่สุด และเปลือกผลไม้บางชนิดนั้นย่อยสลายยาก เมื่อมันไม่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีทำให้ส่งกลิ่นเหม็น

ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุธโสของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวเผยข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ในปี 2560 นี้ ทุเรียนเป็นสินค้าทางการเกษตร ที่มีความต้องการบริโภคและได้รับความนิยมต่อการส่งออก ทำให้เกิดการกองทิ้งเปลือกทุเรียนสูงถึง 8 ตันต่อวันต่อจังหวัด เปลือกผลไม้เหล่านี้เป็นขยะอินทรีย์ ในรูปชีวมวลซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในรูปแบบต่างๆ

“กระบวนการนำเปลือกผลไม้ไปเพิ่มมูลค่ามีดังนี้ เมื่อได้เปลือกผลไม้มาจะนำไปเผาด้วยกรรมวิธีคาร์บอไนซ์ร่วมกับการอบความร้อน จากนั้นนำไปกระตุ้นด้วยไอน้ำร่วมกับการเคลือบด้วยไอน้ำเพื่อไล่กลิ่นไม่พึงประสงค์ออก เราก็จะได้ถ่านเปลือกผลไม้ที่ใช้เป็นวัสดุดูดกลิ่น” ดร.เรวดี กล่าว

จากนั้นนักวิจัยได้นำถ่านเปลือกผลไม้ไปบดอัดแท่งและขึ้นรูป เพื่อให้ได้เป็นถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าในขั้นที่ 2 และขั้นสุดท้ายคือการนำถ่านเปลือกไม้ไปทำถ่านหอมด้วยเทคโนโลยีการเอิบชุ่มและการตกเคลือบด้วยไอน้ำ จะได้ถ่านหอมที่มีกลิ่นต่างๆ ออกมา

สำหรับถ่านหอมที่ได้นี้สามารถปล่อยกลิ่นหอมได้ 30 วัน และเมื่อถ่านหอมหมดกลิ่นลง มันจะทำหน้าที่เป็นถ่านดูดซับกลิ่นแทน ซึ่งระยะเวลาที่ถ่านสามารถดูดซับกลิ่นได้คือ 30-45 วัน จากนั้นเมื่อไม่สามารถดูดซับกลิ่นได้แล้ว ก็สามารถนำถ่านเปลือกไม้หอมนี้ไปผสมกับดิน เพื่อเพิ่มความพรุนให้แก่ดิน ทำให้รากพืชสามารถชอนไชส่งไปในดินได้ง่ายขึ้น และแร่ธาตุกับน้ำก็สามารถแทรกระกว่าเนื้อดินได้ง่ายอีกด้วย



ทางทีมวิจัยยังได้ทดสอบความสามารถในการดูดซับกลิ่น ด้วยการทดสอบการดูดซับด้วยไอโอดีน พบว่ากรรมวิธีการกระตุ้นด้วยไอน้ำ ร่วมกับการตกเคลือบด้วยไอเคมี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการดูดซับของถ่านเปลือกทุเรียน
การผลิตถ่านเปลือกผลไม้หอมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรับซื้อเปลือกผลไม้จากตลาด แต่สามารถเพิ่มมูลค่าในส่วนของถ่านเปลือกไม้ ถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่ง ถ่านหอม เป็นกิโลละ 30 บาท 25 บาท และ 3,000 บาทตามลำดับ โดยการผลิตถ่านหอมนี้ได้มีการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ตำบลบ้านตาลเดี่ยว อำเภิแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าโอทอปต่อไป

ที่มา : www.technologychaoban.com และฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้าOTOP


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้