สารสกัดจากพืชกัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างไร
กัญชามีสารประกอบเรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabidiol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ ฤทธิ์ของ THC ต่อจิต ประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ กระตุ้นให้อยากอาหาร ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง
อันตรายจากการใช้งานยากัญชาที่ไม่ได้วางแผนรักษาจากแพทย์ (หามาใช้เอง)
การใช้ยากัญชาที่ไม่ได้มีการวางแผนการรักษา จะไม่สามารถกำหนดความเข้มข้นของปริมาณสารกัญชา จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ มองเห็นสีผิดปกติ คลื่นไส้ ความจำลดลง ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง เกิดความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาตลอด ห้ามหยุดยา แล้วหันมาใช้ยากัญชาในการรักษา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิต
โรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการยากัญชามีที่ไหนบ้าง
สารสกัดน้ำมันกัญชาชนิด THC สูง จากองค์การเภสัชกรรม กระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง, รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รพ.สระบุรี, รพ.ราชบุรี, รพ.ระยอง, รพ.ขอนแก่น, รพ.อุดรธานี, รพ.บุรีรัมย์, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.สุราษฎร์ธานี และรพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ป่วยสามารถเข้าไปรับบริการได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562
กระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย ผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง ครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ-รพ.สมเด็จพระยุพราช เด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี, ภาคกลาง-รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์, ภาคใต้-รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
จะซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์เองได้หรือไม่
สารสกัดกัญชาหรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป แม้ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยยากัญชา ก็ไม่สามารถซื้อสารสกัดกัญชาใช้เอง แต่ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชา จะต้องผ่านการอบรม ก่อนจะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับจากสถานที่ผลิตมาตฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง โดยพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพราะยากัญชาไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการรักษาโรค
ที่มาบทความและรูป : www.medcannabis.go.th