การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสำคัญอย่างไร

Last updated: 23 ก.พ. 2565  |  1913 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสำคัญอย่างไร

        เรายังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน (fossil fuel) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเรือนกระจกที่สะสมเพิ่มมากขึ้นในชั้นบรรยากาศคือสาเหตุของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และภาวะโลกร้อนนี้เองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

       นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามนุษย์คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระ ทบต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเราจึงควรหาแนวทางการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากความ แปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทำไมต้อง 30 ปี

       การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นประเด็นที่เราจำเป็นต้องมองไปในอนาคตระยะไกล เรามักใช้กรอบเวลาประมาณ 30 ปี เป็นเกณฑ์เพราะระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่เราจะสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่เราจะนำมาคำนวณหาลักษณะรูปแบบของภูมิอากาศได้

       สำหรับประเทศไทย มีผลการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตซึ่งบ่งชี้ว่า

-  อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปจะสูงขึ้นเล็กน้อยทั้ง กลางวันและกลางคืน
- ปริมาณน้ำฝนรายปีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ฤดูฝนจะยังคงมีระยะเวลาเท่าเดิม ลักษณะนี้อาจทำให้ฤดูน้ำหลากมีน้ำมากหรือน้ำท่วม
- วันที่ร้อนที่สุดในรอบปีจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก  อาจมีการขยับเลื่อนของฤดูกาล ช่วงเวลาอากาศร้อนที่ยาวนานขึ้น
- ฤดูหนาวที่สั้นลง ฤดูแล้งอาจแล้งจัด เนื่องจากระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีมีแนวโน้มร้อนมากขึ้นและนานขึ้น
- มีพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดมากขี้น ความแปรปรวนระหว่างฤดูและระหว่างปีจะเพิ่มสูงขึ้น

      โดยคาดว่าเราจะเห็นการ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 30 ปีข้างหน้า เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้สังคม และภาคส่วนต่างๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น  เราจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและ ปรับตัวเพื่อให้สังคมมีความเสี่ยงน้อยที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

       เป้าหมายสำคัญของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การปรับตัวเพื่อนำสังคมไปสู่การเป็นสังคมที่มั่นคงและทนทานต่อความเสี่ยงจากภูมิอากาศ (Climate Resilience Society) ในการวางแผนหรือยุทธศาสตร์ ผู้วางนโยบายควรจะต้องปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หรือกรอบแนวคิดในการวางแผน โดยขยายกรอบการมองอนาคตออกไปให้ไกลมากขึ้น และหันมามองประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแง่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต


ที่มา บทความและรูปภาพ : http://www.thailandadaptation.net/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้