Last updated: 6 พ.ย. 2564 | 3132 จำนวนผู้เข้าชม |
UN ชี้สัญญานอันตราย
นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า รายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 คือสัญญานเตือนภัยสีแดง (code red) แก่มนุษยชาติ โดยระบุว่า ข้อตกลงรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับความร้อนโลกก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น “ใกล้ถึงอันตรายแล้ว”
“เราอยู่ในความเสี่ยงที่ใกล้จะถึง 1.5 องศาเซลเซียสในระยะเวลาอันใกล้ วิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกินเกณฑ์นี้ คือยกระดับความพยายามของเราโดยด่วนและหาแนวทางที่เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด” “เราต้องดำเนินการอย่างฉับพลันเพื่อไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส”
นายกูเตร์เรส ระบุว่า แนวทางแก้ไขมีความชัดเจน “เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและครอบคลุม ความเจริญรุ่งเรือง อากาศที่สะอาดขึ้น และสุขภาพที่ดีขึ้นเป็นไปได้สำหรับทุกคน หากเราตอบสนองต่อวิกฤตินี้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและกล้าหาญ”
นายกูเตร์เรส กล่าวอีกว่า ทุกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G20 ต้องเข้าร่วมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์(Net Zero Emissions Coaltion) ก่อนการประชุม COP26 ด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งตอกย้ำคำมั่นที่จะลดหรือชะลอภาวะโลกร้อน ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(Nationally Determined Contributions:NDCs)
โลกร้อนเร็วขึ้น
รายงานฉบับนี้ได้ให้การประมาณการใหม่เกี่ยวกับโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสหรือระดับภาวะโลกร้อนในทศวรรษหน้า เว้นแต่ว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทันที รวดเร็ว และมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ใกล้เคียง 1.5 องศาเซลเซียส หรือยังต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
รายงานแสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850-19900 และพบว่าโดยเฉลี่ยในช่วง 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกคาดว่าจะสูงถึงหรือสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
การประเมินนี้ใช้ชุดข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตที่ปรับใหม่เพื่อประเมินภาวะโลกร้อนในอดีต ตลอดจนความคืบหน้าในความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิอากาศต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น
“รายงานนี้เป็นการสะท้อนความเป็นจริง” วาเลอรี แมสสัน-เดลมอตต์ ประธานร่วมคณะทำงานกลุ่มที่ 1 กล่าวว่า “รายงานเป็นการให้ข้อมูลจริง ทำให้เรามีภาพที่ชัดเจนขึ้นมากเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทิศทางไหน จะทำอะไรได้บ้าง และเราจะเตรียมตัวอย่างไร”
ทุกภูมิภาคเจอการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น
ลักษณะหลายประการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงขึ้นอยู่กับระดับของภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่ผู้คนประสบมักจะแตกต่างอย่างมากกับค่าเฉลี่ยของโลก ตัวอย่างเช่น ภาวะโลกร้อนบนบกมีมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และสูงกว่าสองเท่าในแถบอาร์กติก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคบนโลกแล้วในหลายๆ ด้าน การเปลี่ยนแปลงที่เราพบจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น” ผานเหมา ไจ่ ประธานร่วมคณะทำงานชุดที 1 กล่าว
ผลของการกระทำของคนต่อสภาพภูมิอากาศ
วาเลอรี แมสสัน – เดลมอตต์ กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนมานานหลายทศวรรษแล้วว่าสภาพอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และชี้ชัดถึงบทบาทของอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อระบบภูมิอากาศ” รายงานฉบับ ใหม่ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในศาสตร์ในการระบุแหล่งที่มาการทำความเข้าใจบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการทำให้สภาพอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจงรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อนสูงและเหตุการณ์ฝนตกหนัก
รายงานยังแสดงให้เห็นว่าการกระทำของมนุษย์ยังคงมีศักยภาพที่จะกำหนดทิศทางของสภาพอากาศในอนาคต มีหลักฐานชัดเจนว่าคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเช่นกัน
“การรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศจะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแข็งแกร่ง รวดเร็ว และยั่งยืน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ การจำกัดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเทน อาจมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและสภาพอากาศ” ไจ่กล่าว
IPCC เป็นองค์กรที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของสหประชาชาติ มีมาตั้งแต่ปี 1988 และมีประเทศสมาชิก 195 ประเทศ ทุกๆ เจ็ดปี IPCC จะเผยแพร่รายงาน “สภาวะของสภาพอากาศ” ซึ่งสรุปการวิจัยล่าสุดที่ได้รับการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และวิธีการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ
วัตถุประสงค์ของรายงานคือการให้ข้อมูลแก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่กำกับดูแล ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC จัดทำเอกสารหลายพันฉบับที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ความเสี่ยง และองค์ประกอบทางสังคมและเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่รัฐบาล
ที่มาบทความและรูปภาพ : https://thaipublica.org/2021/08/un-cheif-warns-ipcc-report-code-red-for-humanity/
31 ต.ค. 2567
28 ต.ค. 2567